นิทานเด็ก

power poin กิจกรรมการเล่านิทาน

power poin ปริศนาคำทาย

วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ความหมายของภาษาและการจัดประสบการณ์ทางภาษา

น.ส.สุดาทิพย์ ผ่องภิญโญสกุล

รหัส 5111205166

ความหมายของภาษา
คำว่า “ ภาษา” เป็นคำภาษาสันสฤต แปลตามรูปศัพท์หมายถึงคำพูดหรือถ้อยคำ ภาษาเป็นเครื่องมือของมนุษย์ที่ใช้ในการสื่อความหมายให้สามารถสื่อสารติดต่อทำความเข้าใจกันโดยมีระเบียบของคำและเสียงเป็นเครื่องกำหนด ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายของคำว่าภาษา คือ เสียงหรือกิริยาอาการที่ทำความเข้าใจกันได้ คำพูดถ้อยคำที่ใช้พูดจากัน


ภาษา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

ภาษาที่เป็นถ้อยคำ เรียกว่า “ วัจนภาษา”
ภาษาที่ไม่เป็นถ้อยคำ เรียกว่า “ อวัจนภาษา”

ความสำคัญของภาษา
•ภาษาเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารของมนุษย์ มนุษย์ติดต่อกันได้ เข้าใจกันได้ก็ด้วยอาศัยภาษาเป็นเครื่องช่วยที่ดีที่สุด
•ภาษาเป็นสิ่งช่วยยึดให้มนุษย์มีความผูกพันต่อกัน เนื่องจากแต่ละภาษาต่างก็มีระเบียบแบบแผนของตน ซึ่งเป็นที่ตกลงกันในแต่ละชาติแต่ละกลุ่มชน การพูดภาษาเดียวกันจึงเป็นสิ่งที่ทำให้คนรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน มีความผูกพันต่อกันในฐานะที่เป็นชาติเดียวกัน
•ภาษาเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของมนุษย์ และเป็นเครื่องแสดงให้เห็นวัฒนธรรมส่วนอื่นๆของมนุษย์ด้วย เราจึงสามารถศึกษาวัฒนธรรมตลอดจนเอกลักษณ์ของชนชาติต่างๆได้จากศึกษาภาษาของชนชาตินั้นๆ
•ภาษาศาสตร์มีระบบกฎเกณฑ์ ผู้ใช้ภาษาต้องรักษากฎเกณฑ์ในภาษาไว้ด้วยอย่างไรก็ตาม กฎเกณฑ์ในภาษานั้นไม่ตายตัวเหมือนกฎวิทยาศาสตร์ แต่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติของภาษา เพราะเป็นสิ่งที่มนุษย์ตั้งขึ้น จึงเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัยตามความเห็นชอบของส่วนรวม
•ภาษาเป็นศิลปะ มีความงดงามในกระบวนการใช้ภาษา กระบวนการใช้ภาษานั้น มีระดับและลีลา ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆหลายด้าน เช่น บุคคล กาลเทศะ ประเภทของเรื่องฯลฯ การที่จะเข้าใจภาษา และใช้ภาษาได้ดีจะต้องมีความสนใจศึกษาสังเกตให้เข้าถึงรสของภาษาด้วย

การจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาสำหรับเด็กปฐมวัย

การวางแผนการจัดประสบการณ์ทางภาษาควรเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจว่าการจัดประสบการณ์ มีความหมายที่กว้างกว่าการสอน หรือการถ่ายทอดความรู้ แต่เป็นการจัดเตรียมทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาทางภาษา
โดยแผนดังกล่าวจะต้องเหมาะสมกับพัฒนาการทางภาษาและการรู้หนังสือของเด็ก และมีลักษณะบูรณาการ ให้เด็กได้ใช้ภาษาอย่างมีความหมายเป็นรายบุคคล

การกำหนดจุดมุ่งหมายของการจัดประสบการณ์ทางภาษาสำหรับเด็กปฐมวัย
การกำหนดจุดมุ่งหมายของการจัดประสบการณ์ทางภาษาสำหรับเด็กจึงควรกำหนดให้ครอบคลุมทั้งภาครับซึ่งหมายถึงภาษาที่เด็กใช้ในการทำความเข้าใจ และภาคส่งซึ่งหมายถึงภาษาที่เด็กใช้หรือแสดงออก

1. จุดมุ่งหมายของการจัดประสบการณ์ทางภาษาภาครับ
1.1 เด็กได้อยู่ในบรรยากาศที่มีการใช้ภาษา
1.2 เด็กได้รับความพึงพอใจและความสนุกสนานผ่านทางภาษา

2. จุดมุ่งหมายของการจัดประสบการณ์ทางภาษาภาคส่ง
2.1 เด็กมีโอกาสใช้ภาษาอย่างอิสระ ไม่ว่าจะอยู่ในพัฒนาการขั้นใดก็ตาม โดยได้รับกำลังใจ และการยอมรับนับถือต่อความต้องการในการสื่อสารของเด็กเอง
2.2 เด็กได้รับการสนับสนุนให้ออกเสียงอย่างถูกต้อง

การกำหนดสาระการเรียนรู้ที่ใช้สำหรับจัดประสบการณ์ทางภาษาสำหรับเด็กปฐมวัย

สาระการเรียนรู้ที่ใช้ในการจัดประสบการณ์ทางภาษาสำหรับเด็กปฐมวัยซึ่งนำเสนอในที่นี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ประสบการณ์สำคัญ และสาระที่ควรเรียนรู้

การจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ภาษาสำหรับเด็กปฐมวัย

การจัดประสบการณ์สำหรับเด็กด้านภาษาจำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กได้คุ้นเคยกับการใช้ภาษาอย่างมีความหมาย และเป็นองค์รวม เนื่องจากสภาพแวดล้อมในห้องเรียนเป็นสิ่งที่สำคัญที่ส่งผลต่อความต้องการในการเรียนภาษาของเด็ก การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการเรียนภาษาของเด็กต้องสอดคล้องกับวิธีการเรียนรู้ของเด็ก
ห้องเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ภาษาสำหรับเด็กปฐมวัยควรมีวัสดุอุปกรณ์ส่งเสริมการรู้หนังสือที่มีคุณภาพ เด็กที่ได้อยู่ในห้องเรียนที่มีวรรณกรรมสำหรับเด็กที่มีคุณภาพมีแนวโน้มที่จะรักการอ่าน

การประเมินพัฒนาการทางภาษาของเด็กปฐมวัย

1. ใช้เครื่องมือการประเมินที่เหมาะสมกับธรรมชาติของการเรียนรู้ภาษาของเด็ก ครูต้องศึกษาพัฒนาการด้านการพูด การฟัง การอ่าน และการเขียนของเด็ก แล้วนำหัวข้อเหล่านี้มาสร้างเป็นตัวบ่งชี้(Indicators) ในเครื่องมือการประเมิน
2. ใช้เครื่องมือในการประเมินที่หลากหลาย การประเมินพัฒนาการทางภาษาของเด็กปฐมวัย ควรเป็นการประเมินแบบไม่เป็นทางการ
3. บูรณาการการสอนกับการประเมิน การประเมินถือเป็นส่วนหนึ่งของการจัดประสบการณ์ การประเมินอย่างต่อเนื่องทำให้ครูทราบพัฒนาการทางภาษาของเด็ก เข้าใจเด็ก และรู้ว่าจะพัฒนาเด็กอย่างไรต่อไป
4. เน้นที่ความก้าวหน้าของเด็ก ในการประเมินพัฒนาการทางภาษาครูควรบันทึกสิ่งที่เด็กสามารถทำได้ เพื่อเป็นการประเมินความก้าวหน้าของเด็ก ไม่ควรมุ่งสังเกตสิ่งที่เด็กยังไม่สามารถทำได้
5. ให้ความสนใจทั้งกระบวนการและผลผลิต ขณะที่เด็กร่วมกิจกรรมทางภาษาครูควรให้ความสนใจกับกระบวนการในการใช้ภาษาของเด็ก
6. ประเมินจากบริบทที่หลากหลาย ครูจำเป็นต้องประเมินพัฒนาการทางภาษาของเด็กจากบริบทที่หลากหลาย
7. ประเมินเด็กเป็นรายบุคคล การประเมินพัฒนาการทางภาษา ครูต้องเฝ้าสังเกตเด็กแต่ละคน เพื่อให้รู้จักเด็กเป็นรายบุคคล
8. ให้เด็กมีโอกาสประเมินตนเอง เด็กควรได้รับการกระตุ้นให้คิดไตร่ตรองเพื่อประเมินความก้าวหน้าของตนเอง การที่เด็กมีส่วนร่วมในการติดตามความก้าวหน้าของตนเอง จะช่วยให้เด็กภูมิใจ

การจัดประสบการณ์ทางภาษาสำหรับเด็กปฐมวัยที่พูดภาษาถิ่นเป็นภาษาที่หนึ่ง

ในการจัดประสบการณ์ทางภาษาสำหรับเด็กสองภาษา ครูควรทำความเข้าใจว่าการเรียนรู้ภาษาที่หนึ่งและการเรียนรู้ภาษาที่สองมีความแตกต่างกัน การทำความเข้าใจดังกล่าวนำไปสู่การจัดประสบการณ์ทางภาษาอย่างเหมาะสมสำหรับเด็ก
ในกรณีที่ครูไม่สามารถพูดภาษาถิ่นที่เด็กพูดได้ มีแนวทางในการปฏิบัติตนของครู

1. ครูต้องพูดคุยกับเด็กอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าบางครั้งเด็กจะไม่ตอบสนองต่อสิ่งที่ครูพูด
2. รอคอย ให้กำลังใจ และกระตุ้นให้เด็กลองพูดภาษาที่สอง
3. จับคู่เด็กที่พูดภาษาถิ่นเหมือนกัน เพื่อให้เด็กรู้สึกสบายใจว่ามีคนที่เหมือนตนเอง
4. เมื่อพูดกับเด็กให้ใช้ระดับเสียงตามธรรมชาติ ไม่ควรเน้นเสียง หรือออกเสียงดังเกินไป เพราะจะทำให้เด็กกลัว หรือรู้สึกว่าครูกำลังโกรธ
5. หากเด็กใช้ชื่อที่เป็นภาษาถิ่น ให้ครูหัดออกเสียงเรียกชื่อของเด็กโดยใช้ภาษาถิ่นนั้น แทนการเรียกชื่อใหม่ที่เป็นภาษาที่สองที่ครูถนัด
การเด็กจะอยู่ในบริบทของสังคมสองภาษา กล่าวคือ เด็กใช้ภาษาถิ่นเป็นภาษาที่หนึ่ง และใช้ภาษาไทยกลางเป็นภาษามาตรฐานการเรียนรู้ในโรงเรียนนั้น แม้ว่าจะดูเหมือนเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย แต่หากครูทำความเข้าใจความแตกต่างของภาษาที่หนึ่ง และภาษาที่สอง รวมทั้งศึกษาวิธีการช่วยเหลือเด็กอย่างเหมาะสม เด็กย่อมจะได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้สองภาษาไปพร้อมๆ กัน อีกทั้งยังเป็นการทำให้เด็กคุณค่าของภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นอีกด้วย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น